เรือประมงลักลอบเติมน้ำมันเขียว ทำรัฐเสียหาย 700 ล้านบาท

เรือประมงลักลอบเติมน้ำมันเขียว

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งกับ “น้ำมันเขียว ขุมทรัพย์กลางทะเลไทย” ที่ชาวเรือประมงบางกลุ่มมักแสวงหาผลประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐดูแลสนับสนุน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งสร้างความเสียหายจากมูลค่าภาษีที่รัฐควรจะได้ถึงปีละ 700 ล้านบาท และสำหรับคนที่ยังไม่ทราบว่าน้ำมันเขียวคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? เรือประมงลักลอบเติมน้ำมันเขียว ได้ยังไง? วันนี้ VMS Thailand มีคำตอบมาฝากกันครับ

สารบัญ

น้ำมันเขียวคืออะไร?

ต้องเกริ่นก่อนว่า “น้ำมันเขียว” คือโครงการที่ภาครัฐจัดน้ำมันดีเซลที่เติมสารสีเขียว เพื่อให้แยกแยะจากน้ำมันบนฝั่งได้ และได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกประมาณลิตรละ 6 บาท ซึ่งรัฐบาลจัดให้มีขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนการทำประมงให้กับชาวประมงพาณิชย์ตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ 18 กันยายน 2555 ในการบริหารจัดการครั้งนี้ มีอธิบดีกรมสรรพสามิตทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ และปัจจุบันมีเรือสถานีบริการ (Tanker) 51 ลำ ให้บริการพี่น้องชาวประมงพาณิชย์ทั่วเขตทะเลไทย

Green Petrol Tanker

จำนวนเรือที่เติมน้ำมันเขียวลดลง แต่ทำไมปริมาณจำหน่ายไม่ลด?

หลังจากที่ประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” การทำประมง IUU จากสหภาพยุโรป เมื่อปี 2558 รัฐบาลได้ดำเนินการจัดระเบียบการทำประมงประเทศไทยใหม่ทั้งระบบ ทำให้เรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับสิทธิเติมน้ำมันเขียวลดลงจาก 10,459 ลำ ในปี 2559 เหลือ 8,445 ลำ ในปี 2564 แต่ทว่าขณะที่เรือประมงพาณิชย์ที่เติมน้ำมันเขียวลดจำนวนลง แต่ปริมาณการจำหน่ายกลับมิได้ลดลงตามสัดส่วนจำนวนเรือ กลับ “คงที่อยู่ประมาณปีละ 610 ล้านลิตร” คิดเป็นภาษีที่รัฐบาลยกเว้นถึงปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือเท่ากับเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่เติมน้ำมันเขียว ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการยกเว้นภาษีที่ควรจะเสียประมาณ 471,717 บาท/ลำ/ปี

นอกจากนี้ การอุดหนุนภาคประมงพาณิชย์ด้วยการ “ยกเว้นภาษี” น้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่าราคาตลาดลิตรละ 6 บาท ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์การการค้าโลก (WTO) ให้ประเทศไทยชี้แจงว่า เป็นการอุดหนุนที่มีการบริหารจัดการอย่างเข้มงวดหรือไม่ เพื่อมิให้เป็นการสนับสนุนการทำประมง IUU การทำประมงทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ Over Fishing ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่องค์การการค้าโลกจะประกาศให้ประเทศไทยต้องยกเลิกการอุดหนุนภาคประมงพาณิชย์ ด้วยการยกเลิกโครงการน้ำมันเขียวทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรือประมงพาณิชย์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติกรอบการชี้แจงกับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยยืนยันว่าประเทศไทยมีการกำกับดูแลที่ดีในการทำประมงไม่ให้เป็น IUU ทำลายล้างสัตว์น้ำ และมีระบบควบคุมดูแลการสนับสนุนการทำประมงอย่างดีมีประสิทธิภาพ ทำให้หน่วยงานภาครัฐโดยกรมสรรพสามิต ได้ประสานขอการสนับสนุนจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงาน ให้เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าตรวจสอบ สืบสวน เพื่อ “จัดระบบควบคุมดูแลโครงการน้ำมันเขียว” ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด ไม่ให้ถูกนำไปใช้ในการทำประมง IUU การทำประมงทำลายล้างสัตว์น้ำ และการค้ามนุษย์แรงงานบังคับบนเรือประมง

Meeting about green oil

เรือประมงลักลอบเติมน้ำมันเขียวได้อย่างไร?

จากการตรวจสอบข้อมูลเรือประมงที่มีสิทธิ์เติมน้ำมันเขียว ซึ่งต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 68/2561 ลงวันที่ 10 เมษายน 2561 ประกอบด้วย

  1. ต้องเป็นเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงจากกรมประมง
  2. ต้องเป็นเรือประมงที่ผ่านการรับรองจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
  3. ต้องเป็นเรือประมงที่มีรหัส และรับรองจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยส่งให้กับกรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 จำนวน 8,445 ลำ พบข้อมูลว่า มีเรือที่ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร แต่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยออกรหัสและรับรองให้เติมน้ำมันเขียว มีถึง 791 ลำ ประกอบด้วย

  • เรือประมงพาณิชย์ไม่มีทะเบียนเรือ 
  • เรือประมงพาณิชย์ไม่มีใบอนุญาตประมงพาณิชย์จากกรมประมง 
  • เรือประมงพาณิชย์ที่แจ้งจมหรือทำลายไปแล้ว 
  • เรือประมงพาณิชย์ที่เปลี่ยนประเภทไปเป็นเรือบรรทุกสินค้า หรือเรือลากจูง 
  • เรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดถังน้ำมันตั้งแต่ 1,500 – 10,000 ลิตร ซึ่งเกินกว่าขนาดตัวเรือที่สามารถบรรทุกได้

เมื่อนำรายชื่อเรือพร้อมรหัสเติมน้ำมันเขียวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไปสอบยันกับข้อมูลการเติมน้ำมันเขียวที่ตำรวจน้ำได้รับจากเรือสถานีบริการ(Tanker) พบว่า มีเรือประมงที่ใช้รหัสของเรือประมงที่ขาดคุณสมบัติข้างต้น “ไปเติมน้ำมันเขียว” จำนวนหลายลำ และยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่ามีเรือประมงอีกจำนวน 599 ลำ ใช้รหัสเติมน้ำมันไม่ตรงกับรหัสเติมน้ำมันที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยออกให้และรับรอง “เข้ามาเติมน้ำมันเขียว” ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนเรือที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด “เติมน้ำมันเขียว” โดยขาดคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีจำนวนถึง 1,390 ลำ

Catch a fishing boat

จับเรือประมงลักลอบเติมน้ำมันเขียวกลางทะเลอันดามัน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้บูรณาการกำลังออกปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่าง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมเรือประมง ชื่อ ช.ศรีพลนภา 5 ขนาด 122 ตันกรอส ขณะทำการประมงบริเวณทะเลอันดามัน พื้นที่รอยต่อจังหวัดพังงาและระนอง โดยให้เข้าเทียบท่าที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา

เรือประมงดังกล่าว มีพฤติกรรมวนเวียนเติมน้ำมันจากเรือสถานีบริการ (Tanker) หลายลำ ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน โดยใช้รหัสเติมน้ำมันของ “เรือประมงที่แจ้งทำลายเรือ” ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และขยายผลเข้าตรวจค้นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ จากผู้เกี่ยวข้อง คือ เรือสถานีบริการน้ำมันเขียว บริษัทเข้าของเรือสถานีบริการน้ำมันเขียว รวมถึงสมาคมประมงที่ให้การรับรอง เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 189 ขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีคุณสมบัติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาน้ำมันที่อยู่ในเรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเรือประมงที่ถูกจับกุมวันนี้ ได้บรรทุกน้ำมันประมาณ 30,000 ลิตร และได้เติมน้ำมันเขียวโดยใช้รหัสเติมน้ำมันเขียวจากเรือประมงลำอื่นที่แจ้งกับกรมเจ้าท่าว่าถูกทำลายไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง จะต้องโดนปรับ 4,320,000 บาท

นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายกระทำความผิดพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 203 ฐานนำน้ำมันที่ยังไม่เสียภาษีสรรพสามิตเข้ามาในราชอาณาจักร มีโทษปรับสองถึงสิบเท่าของภาษี จึงจะต้องเสียค่าปรับอีก 12,600,000 บาท รวมค่าปรับทั้งสองกฎหมาย รวม 16,920,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมการดำเนินคดีจากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 เป็นต้น และจะมีการจับกุมดำเนินคดีกับเรือประมงที่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันตามมาอีกจำนวนมากในทุกจังหวัดชายทะเล ซึ่งชุดปฏิบัติการได้กำหนดเป้าหมายไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป และนอกจากจะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มเรือประมงที่ไม่มีคุณสมบัติเติมน้ำมันเขียวแล้ว ในส่วนของเรือสถานีบริการ (Tanker) และสมาคมการประมง ที่ให้การรับรองคุณสมบัติและออกรหัสเติมน้ำมันเขียว ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยทั้งหมดเช่นเดียวกัน

สรุป

โครงการน้ำมันเขียว ถือเป็นโครงการที่ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการกลุ่มประมงได้เป็นอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการลักลอบเติมน้ำมันเขียวโดยขาดคุณสมบัติตามประกาศจากกรมศุลกากร รวมถึงการลักลอบนำมาขายหรือใช้บนบก ซึ่งสร้างความเสียหายจากมูลค่าภาษีที่รัฐควรจะได้เป็นอย่างมาก โดยปีที่ผ่านมาสามารถจับกุมได้หลายล้านลิตร และปีนี้จากราคาที่แตกต่างกันมาก น่าจะยิ่งจูงใจให้มีการลักลอบนำมาใช้กันมากขึ้น

ดังนั้น การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งคุณสมบัติของคนและเรือประมง ถือเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ประมงที่ดี ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่มีสิทธิทำประมงในน่านน้ำไทย ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม ม.39 และเรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องติดตั้ง ระบบติดตามเรือ VMS พร้อมดูแลรักษาระบบดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อประโยชน์ในการติดตามเรือและการเฝ้าระวัง สำหรับผู้ประกอบการเรือประมงที่สนใจติดตั้ง ระบบติดตามเรือ VMS สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ VMS Gen 1 Plus ระบบติดตามเรือที่ดีที่สุดในไทย หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ Line : @vmsthailand และ โทร. 02 052 4466

Ship position tracking system

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน หากพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะการทำประมงที่เป็นความผิดตามกฎหมาย และการค้ามนุษย์แรงงานบังคับบนเรือประมง สามารถแจ้งข้อมูลมายังศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือผ่านช่องทาง Facebook: TICAC-Thailand Internet Crimes Against Children , LineOA: @HUMANTRAFFICKTH และ TWITTER: @safe_dek เพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก: www.naewna.comnews.ch7.com และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ